ความรู้เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา
ความรู้เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา
บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่ได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ดังนั้น เรื่อง “ เจตนา ” จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพิจารณาความรับผิดทางอาญา
การกระทำโดยเจตนาได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ส่วนการกระทำโดยประมาทนั้น คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่ไม่ได้ใช้ให้เพียงพอ
**** ข้อยกเว้นความรับผิด : ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด ( ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย )
ในทางอาญานั้นเมื่อมีการกระทำที่เป็นความผิดเกิดขึ้น ผู้กระทำก็ย่อมต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น และโทษนั้นก็จะเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งโทษทางอาญา มี 5 สถานเรียงลำดับตามโทษหนักไปโทษเบาคือ 1.ประหารชีวิต 2.จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ 5.ริบทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ผู้กระทำความผิดก็อาจไม่ต้องรับโทษอาญาเมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ เช่น เด็กอายุไม่เกินสิบปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ หรือบุคคลกระทำความผิดด้วยความจำเป็นหากการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้วผู้กระทำนั้นไม่ต้องรับโทษ เป็นต้น